การอบรมให้กับสถานประกอบการ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 หลักสูตร “นวัตกรรมกระบวนการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมสำหรับสถานประกอบการ” วันที่ 12 ก.ค.67

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ทางมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ และบริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมกันจัดงานอบรมหลักสูตร “นวัตกรรมกระบวนการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมสำหรับสถานประกอบการ” ครั้งที่ 1 ปี 2567 ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ให้กับสถานประกอบการ ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมปริ้นซ์ตั้นพาร์คสวีท (ดินแดง) ถนนมิตรไมตรี กรุงเทพฯ 

 

การอบรม บรรยายที่ห้องวิภาวดี














ก่อนเริ่มงานอบรม และการกล่าวเปิดงาน มีการแนะนำตัวของวิทยากรและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานอบรมครั้งนี้ อาทิเช่น นายศุภลักษณ์ เสนามพรหม (วิทยากร), พลเอกจิรศักดิ์ บุตรเนียร (รอง ปธ.มปพ.), พลเอกสุรใจ จิตต์แจ้ง, พลเอกสุรชาติ จิตต์แจ้ง, นายอำนาจ ศรีสมบัติ และนางสาวอลิณฌา สมวงศ์ เป็นต้น

 








ต่อมานางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล ได้กล่าวนำเพื่อเรียนเชิญประธานกล่าวเปิดงานอบรม ดังนี้: “เรียนท่านประธาน ท่านวิทยากร ท่านผู้บริหาร ผู้แทนจากสถานประกอบการ แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน น้องๆ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน”

 



“ดิฉัน นางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล กรรมการบริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น และมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ซึ่งทั้ง 2 องค์กร ได้ร่วมมือกันจัดงานอบรม หลักสูตร “นวัตกรรมกระบวนการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมสำหรับสถานประกอบการ” ประจำปี 2567 ซึ่งเราจะมีการจัดการอบรมขึ้นในปีนี้ ทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของครอบครัวคนพิการในประเทศไทย แน่นอนว่าต้องมีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้กับทุกท่าน ดังนี้

·      นายศุภลักษ์ เสนาพรหม (ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมความเสมอภาคและงานคดี)

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

·      ดร.ณคัชรินทร์ วชิรวงศ์ภิญโญ (หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีชั้นสูง)

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

·      นายปรีดา ลิ้มนนทกุล (กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ และบริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด) รางวัลบุคคล อโชก้า เฟลโลว์ ประจำปี 2557 นักกิจการเพื่อสังคมการพัฒนาศักยภาพคนพิการ)

 

บัดนี้ได้เวลาแล้ว เรียนเชิญท่านประธาน พลเอกจิรศักดิ์ บุตรเนียร รองประธานมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ  ให้เกียรติเป็นประธาน กล่าวเปิดการอบรม หลักสูตร “นวัตกรรมกระบวนการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมสำหรับสถานประกอบการ” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ ค่ะ”

 




ท่านประธานในวันอบรม กล่าว “กระผม พลเอกจิรศักดิ์ บุตรเนียร รองประธานมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการกล่าวเปิดงานอบรมในครั้งนี้ ปัจจุบันเราทราบกันโดยทั่วถึงแล้วว่า ประเทศไทยได้ร่วมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ทำให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับคนพิการ ที่มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมายสำหรับคนพิการ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ผู้ดูแลคนพิการ ผู้ช่วยคนพิการ เป็นต้น อีกทั้งยังมีระเบียบเพื่อให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ตัวอย่างเช่น กฎหมายจ้างงานคนพิการ ที่ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงาน ลูกจ้าง ถึง 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน หรือร้อยละ 1”

 

“ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้มีการบังคับใช้เมื่อ พ.ศ.2554 กว่า 14 ปี ยังพบว่าการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้น ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ครบถ้วน รวมถึงหน่วยงานราชการก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ครบถ้วนเช่นกัน ทำให้มีการสมทบเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นจำนวนมาก จนปรากฏต้องส่งเงินคืนคลัง ทำให้เกิดประโยชน์กับคนพิการไม่ทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

 

“ตลอดมาตั้งแต่ปี 2551 ผู้บริหาร กรรมการ ของมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ได้มีการริเริ่มนวัตกรรมกระบวนการต่างๆ ขึ้นมา เรียกสั้นๆ ว่า โมเดล เพื่อง่ายต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อาทิเช่น เซ็นทรัลโมเดล ออมสินโมเดล ไอซีทีโมเดล มาม่าโมเดล เป็นต้น โดยพัฒนากระบวนการตามความต้องการของสถานประกอบการ จนมีความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือครอบครัวคนพิการได้ถูกต้องตามระเบียบ ถูกใจสถานประกอบการ จนได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้นแบบให้กับสถานประกอบการอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกระบวนการก็ยังสอดคล้องการแนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของสหประชาชาติ หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ทำให้หลายบริษัทสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเป็นระบบ”

 

“การจัดการอบรมในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์จะเผยแพร่โมเดลต่างๆ เพื่อให้สถานประกอบการนำไปปรับใช้ หรือมีความร่วมมือกับมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ บัดนี้ได้เวลาแล้ว ผมขอกล่าวเปิดงานอรมในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านได้รับความรู้อย่างเต็มเปี่ยมจากท่านวิทยากร และขอให้การจัดอบรมในครั้งนี้ ราบรื่น สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งใจไว้ ครับ”

 

สำหรับการบรรยายช่วงที่ 1 นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ได้บรรยายถึงความรู้พื้นฐานความพิการของคนพิการ “รู้เขารู้เรา เข้าใจคนพิการ” และข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย ในช่วงท้ายได้แทรกความรู้ให้ผู้เข้าอบรมแยกแยะความพิการที่มีความจำเป็นต้องนั่งรถเข็น ว่ามีกี่ประเภท พร้อมเฉลยภาพคำถามแรก แล้วเฉลยตอบคำตอบ เพื่อเน้นย้ำถึงความพิการที่ไม่ควรรับเข้าทำงาน จากนั้นพักเบรกทานอาหารว่าง จึงเข้าสู่ช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นการเสวนา

 




















การเสวนาหัวข้อ “ไฮไลท์กฎหมายการจ้างงานคนพิการ” นั้น วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้ร่วมกันให้ข้อมูลสำคัญของการจ้างงานคนพิการ สัดส่วนการจ้างงาน (มาตรา 33) การสมทบเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (มาตรา 34) และการส่งเสริมอาชีพอิสระให้ครอบครัวคนพิการ (คนพิการ/ ผู้ดูแลคนพิการ) ตามมาตรา 35 รวมทั้งยังได้แจ้งจำนวนเงินที่สะสมในกองทุนฯ ที่น่าสนใจอย่างมาก และจะทำให้ทางมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการสามารถนำไปขับเคลื่อนช่วยเหลือครอบครัวคนพิการ ให้ได้มีอาชีพที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับการต้านทุจริตคอรัปชั่นไปด้วยในคราวเดียวกัน จบการเสวนา ช่วงที่ 2 ทุกท่านร่วมกันทานอาหารกลางวัน บุฟเฟ่ต์นานาชาติ (ชั้น G)

 





































การบรรยายช่วงบ่าย ซึ่งเป็นช่วงที่ 3 นั้น บรรยายยาวจนจบสาระที่ได้เตรียมไว้ถึง 15.00 น. เพื่อให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้กลับก่อนเนื่องจากเป็นวันศุกร์ การจราจรจะหนาแน่นมาก และมีการบรรยายช่วงที่ 4 ให้กับกลุ่มจิตอาสา ถึงเวลา 16.00 น. เนื่องจาก ทางมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ และบริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มีการวางโครงสร้างของ “จิตอาสาและ ผู้จัดการส่วนตำบล” ซึ่งจะมีหน้าที่ทับซ้อนกัน แต่มีรายละเอียดในการทำงานที่ต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกัน ที่จะบรรลุในการขจัดความยากจนให้กับครอบครัวคนพิการในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย โดยไม่มีการทุจริตสิทธิของคนพิการ หากเปรียบเทียบกับส่วนราชการ ก็จะเทียบได้กับ อสม. หรือ อพม. ของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง พม.




































 เครดิตภาพ:

  1. นางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล
  2. นางสาวชณธร ลิ้มนนทกุล
  3. นางสาวจินตนา ดีที
  4. นางสาวพิชชานันท์ ภูแป้ง
  5. นายทวีพร อนุตรพงษ์สกุล
  6. นางสาวธัญญลักษณ์ รอดประเสริฐ