บทความ “กว่าจะเป็น WC” ตอนที่ 1 ผสมผสานสื่อความหมายถึงการยังชีพถาวรเป็นโลโก้บริษัท

 หากผู้อ่านอยากอ่านทราบที่มาของโลโก้ WC แบบทางการกระชับ สามารถอ่านขได้ใน “ความเป็นมาของบริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด” แต่ถ้าอยากทราบถึงรายละเอียดลึกๆ จริงๆ ต้องตามอ่านบทความชุด “กว่าจะเป็น WC” ตอนที่ 1 นี้ แทนครับ เพราะจะยาวสักนิด หวังว่าผู้อ่าน อ่านเสร็จแล้ว อาจจะนำไปปรับใช้กับการเปิดบริษัทใหม่ของท่านได้ครับ

 

คงต้องเริ่มย้อนไปไกล ไกลแค่ 23 ปีก็พอครับ เมื่อผมได้กลายร่างเป็นยอดมนุษย์ เรียบร้อยแล้ว ยอดมนุษย์ในคำเปรียบของผมก็คือ “คนพิการทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร” นั่นเอง คือ ไม่ใช่พิการธรรมดา ต้องทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ตามที่แพทย์ประกันสังคม มีความจำเป็นต้องระบุคำจำกัดความตามนี้เป๊ะๆ ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวผมเอง ให้สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายชได้เต็ม 100% นั่นจึงทำให้ผมยชังคงได้เงินยังชีพเดือนละ 7,500 บาท ทุกเดือนมาตลอด 23 ปี ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาสุขภาพด้านความพิการรุนแรงของผม แต่สามารถผ่อนหนักให้เบาลงได้ รายละเอียดเกี่ยวกับความพิการรุนแรงของผมสามารถหาอ่านในอินเตอร์เน็ต ค้นใน Google เพื่อนำความรู้ไว้ทราบและนำไปใช้กรณีที่ครอบครัวใดมีสมาชิกในครอบครัวต้องกลายเป็นคนพิการรุนแรงแบบผม

 

เมื่อผมกลายเป็นยอดมนุษย์เรียบร้อยแล้วนั้น มันเป็นเรื่องจริงนะครับ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นมาให้เหมือนดูปลอบใจตัวเอง ผมรับรู้ได้เลยว่า ทุกๆ เรื่องรอบตัว มันเร็วขึ้น ผมมีเวลามากขึ้น ผมคิดมากขึ้น คิดเรื่องงานมากขึ้น ตัดหลายเรื่องในชีวิตออกไปมากขึ้น สถานการณ์ทำให้ปรับแต่งจนผมต้องมีเส้นทาง เพื่อเดินทางไปยังเป้าหมายที่อาจจะถูกวางไว้ ให้ถึงตามที่ถูกกำหนดจากอะไรสักอย่าง หรือจากใครสักคน แน่นอนว่า เส้นทางนี้ไม่ได้เรียบง่าย อุปสรรคมีมากมาย เพราะผมทราบดีว่า ความสำเร็จข้างหน้านั้น ยิ่งใหญ่และมีความหมายมากมายขนาดไหน อุปสรรคย่อมมีมากมายชตามเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน ชีวิตของครอบครัวคนพิการในประเทศไทยจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และประเทศไทยจะเป็นต้นแบบของอีกหลายประเทศ ย่อหน้านี้สำหรับผม คือ จุดเริ่มต้นของ ที่มาของ WC หรือ บริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด อย่างแท้จริง

 

อยากให้ตามอ่านไปเรื่อยๆ นะครับ โดยเฉพาะครอบครัวคนพิการ แล้วผู้อ่านจะทราบถึง ความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคนที่ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท WC ขึ้นขมา ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้น 29 ท่าน และเราจะทำให้ครอบครัวคนพิการทั่วประเทศไทย ได้เป็นที่พึ่ง ตื่นตัว ตื่นรู้ และพร้อมจะเดินทางร่วมเส้นทางกับเรา ในนาม บริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ซึ่งจะเป็น 2 องค์กรหลัก ที่จะเป็นชุดเกราะกำบังภัยให้กับครอบครัวคนพิการไทยได้เดินหน้าอย่างภาคภูมิ และหลุดพ้นความยากจนไปด้วยกัน

 

ในบทความนี้ ผมขอกระโดดข้ามไปยังช่วงการจะตั้งบริษัท WC ซึ่งแน่นอนว่า เราต้องมีชื่อ และโลโก้ ที่ยอดเยี่ยม ชื่อต้องจดจำง่าย ชื่อต้องสามารถไประดับนานาชาติได้ โลโก้ต้องมีอัตลักษณ์ ต้องสื่อความหมายที่สร้างการรับรู้ในวงกว้างได้ง่าย จดจำง่าย แน่นอนวล่า ต้องมีความสมมาตร สมดุล และไประดับนานาชาติได้ หรือเราอาจจะเรียกว่า มีความเป็นสากล สุดท้าย วรจะถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ด้วย ดูๆ แล้ว ก็ไม่ง่ายนะครับ ถ้าต้องตั้งชื่อ และออกแบบโลโก้ ให้ได้ตามที่ผมได้กล่าวอ้างมาทั้งหมด แต่ทุกท่านเชื่อไหมครับ ว่าสมองคนเรานั้นสุดยอดมาก สามารถนำทุกสิ่งทุกอยช่างในชีวิตมารวมกันได้ แต่เราต้องมีสติ สติจะนำพาปัญญามาให้เราครับ

 


ภรรยาผมเคยนำเหรียญสตางค์ไทย มาให้ผมดู ผมตื่นเต้นมาก เพราะเคยเห็นแต่ในรูปภาพ พอได้จับเหรียญสตางค์ของจริง ปลื้มมาก และภูมิใจแทนคนไทยทุกคนที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสกุลเงินไทย ที่มีหน่วยเล็กที่สุดคือ 1 สตางค์ เอาไว้ 100 สตางค์ มีค่าเท่ากับ 1 บาท สำหรับผมแล้วหน่วยสตางค์ นั้นมีคุณค่ามาก อยากให้ผู้อ่านได้ทราบว่า แม้แต่ในตลาดหุ้น ยังมีหุ้นที่มีมูลค่า 1 สตางค์ แสดงให้เห็นว่า หน่วยสตางค์นั้น ทุกวันนี้ ประเทศไทยเรายังคงใช้อยู่ และยังคงใช้ไปอีกนานแสนนาน เพราะว่า เรายังคงต้องให้ความสำคัญกับหน่วยย่อยในสกุลเงินบาทต่อไป ดังนั้น ภาพจำที่เป็น เหรียญสตางค์ นั้นฝังไว้ในความทรงจำของผมไม่ลืม

 


ผมนำภาพจำของเหรียญสตางค์ไทย มาใช้กับโลโก้ของบริษัทใหม่ทันที เพราะเหรียญสตางค์ก็คือ เงิน และเงิน ก็คือตัวแทนของการมีรายได้ หากมนุษย์เรามีงานทำ ก็จะมีรายได้ ครอบครัวคนพิการก็เช่นกัน ต้องมีงาน มีอาชีพทำ ต้องมีรายได้ ต้องพึ่งพาตนเองได้ ต้องไม่เป็นภาระกับใคร กับในครอบครัว และกับสังคม แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมาย พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตั้งแต่ปี 2550 นับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากกฎหมายเดิมที่มุ่งเน้นการสงเคราะห์คนพิการ แต่กฎหมายใหม่ฉบับนี้ มุ่งเน้นการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย ทำให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เข้าถึงสิทธิมากมาย ซึ่งผมคงไม่นำมาสาธยายในบทความนี้ (สามารถค้นหาในอินเตอร์เน็ตได้มากมาย) ดังนั้น การออกแบบโลโก้ และชื่อบริษัท เราควรกำหนดเป็น คำสำคัญ (Key Word) ขึ้นมาก่อน เราจึงได้คำสำคัญว่า “เหรียญสตางค์”, “การมีรายได้”, “การมีงานทำ”, “การทำงานได้” เป็นต้น ขึ้นมา อีกคำที่สำคัญมากๆ คือ “คนพิการ 7 ประเภท”

 


จากภาพการออกแบบที่เห็นนะครับ สามารถเข้าอ่านในหัวข้อ “ความเป็นมา” ได้ครับ และผมขอขยายความต่อ ในมุมมองของครอบครัวคนพิการ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีกฎหมายสิทธิมนุษยชนฉบับใหม่ล่าสุดแล้วก็ตาม กลับกลายเป็นว่า คนพิการและครอบครัวควรได้ประโยชน์จากสิทธิตามกฎหมาย โดยผ่านโครงสร้างองค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น สมาคมเพื่อคนพิการ มูลนิธิเพื่อคนพิการ ที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐทุกปี บางองค์กรจหลักจะได้รับงบประมาณ๗ถึงปีละ 30 ล้านบาท ต่อสมาคม อีกทั้งยังมีงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวลิตคนพิการ กว่า 600 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้แต่ละองค์กร เขียนโครงการนำงบประมาณไปช่วยเหลือคนพิการ และยังมีงบประมาณจากอีกหลายช่องทาง หลายกองทุน หลายงบประมาณประจำปี หลายกระทรวง รวมแล้วกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่สถานการณ์จริง งบประมาณเหล่านี้กลับถึงมือคนพิการในจำนวนน้อยมาก ความหมายคือ ขึ้นกับว่า ใครเป็นคนของใคร มีคนพิการเพียง 10% เท่านั้น ที่เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย อีกกว่า 90% ไม่ทราบ ไม่รู้ ผมคิดว่า คนพิการส่วนใหญ่ ไม่รู้จักสมาคมเพื่อคนพิการ ที่มีกระจายตัวกว่า 900 องค์กร ทั่วประเทศ เสียด้วยซ้ำ สำคัญที่สุดคือหน่วยงานรัฐไม่ได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหานี้

 

เราจึงได้ริเริ่มการจัดตั้ง บริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขึ้นมา ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้น 29 ท่าน และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวคนพิการ เพื่อจะช่วยกันเป็นตัวอย่างขีดเส้นทางเดินใหม่ให้กับครอบครัวคนพิการในประเทศไทย โดยร่วมมือกับมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ส่งเสริมอาชีพให้กับครอบครัวคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย สามารถติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์บริษัท เพจบริษัท


ด้วยความนับถือ
นายปรีดา ลิ้มนนทกุล
คนพิการมืออาชีพ
กรรมการ บริษัท เวิร์คเอเบิ้ล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
กรรมการ มูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ
086-314-7866 (LINE)
2567-06-19